นางรุจิรา แดงจันทึก

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เรื่องเล็ก...เด็กทำได้ (หนังสือเล่มเล็ก)

นำเสนอผลงาน Best practice กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชื่อผลงาน (สื่อ/กิจกรรม) เรื่องเล็ก...เด็กทำได้ (หนังสือเล่มเล็ก) โรงเรียน บ้านห้วยหิน(ศิลาคามส่ำผดุง) อำเภอนาเชือก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต ๒
วัตถุประสงค์ ๑. เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับผู้เรียน ๒. เพื่อให้ผู้เรียนนำสาระที่ได้จากการอ่าน และทักษะกระบวนการคิดจากการเรียนรู้ขั้นตอนการทำหนังสือเล่มเล็ก มาจัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก วิธีการดำเนินงาน ๑. ครูจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอย่างหลากหลาย ๒. ครูอธิบายวิธีการทำ ขั้นตอนการผลิต ตัวอย่างหนังสือเล่มเล็กให้ผู้เรียนเข้าใจ ๓. เลือกเนื้อหาที่น่าสนใจหรือเป็นเนื้อหาที่น่าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม มาจัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๔. ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ (รายบุคคล หรือเป็นกลุ่ม) ๕. นำผลงานที่ได้มาเปรียบเทียบกัน และปรับปรุงผลงาน ๖. จัดแสดงผลงานไว้ในห้องสมุด / มุมผลงานนักเรียน ๗. เผยแพร่ผลงาน ผลการดำเนินงาน ๑. เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีนิสัยรักการอ่าน และรักการค้นคว้า ๒. ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาได้ง่าย มีความรู้ มีรูปภาพที่สวยงาม และที่สำคัญเกิดจากผลงานของผู้เรียนด้วยกัน ทำให้น่าสนใจ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและสามารถขยายผลต่อให้กับผู้เรียนคนอื่น ๆ ได้ ผลสำเร็จ ๑. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ - ๖ โรงเรียนบ้านห้วยหิน สามารถจัดทำหนังสือเล่มเล็กได้ ๒. ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดหนังสือเล่มเล็ก งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๔ กลุ่มพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ กลุ่มที่ ๑๑ ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้ ๑. ครูผู้สอนควรแนะนำขั้นตอนการจัดทำหนังสือเล่มเล็ก ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจให้ถูกต้องครบถ้วน ๒. การจัดทำหนังสือเล่มเล็กควรจัดให้ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มควรมีนักเรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน ทั้งการจัดทำเนื้อหาสาระ การออกแบบ วาดรูป ระบายสี

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หนังสือสามมิติ (Pop Up)

          หนังสือสามมิติ (Pop Up) เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ช่วยดึงดูดนักเรียนให้สนใจและตั้งใจเรียนมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในเวลาเรียน คือ เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอน และสามารถใช้ได้ทั้งในเวลาที่นักเรียนมีเวลาว่าง
          ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในการเรียนวิชาภาษาไทยให้ดียิ่งขึ้น จึงได้จัดทำหนังสือสามมิติ (Pop Up) นี้  มาเป็นสิ่งเร้าในการดึงดูดความสนใจของนักเรียน  ซึ่งมีอุปกรณ์และขั้นตอนการทำดังนี้
วัสดุ-อุปกรณ์ 
๑  ฟิวเจอร์บอร์ด         
๒. กระดาษโปสเตอร์ , กระดาษสีต่าง ๆ           
๓. กรรไกร , คัตเตอร์ , แผ่นรองกรีด    
๔. กระดาษกาว ๒ หน้าบาง , กาวลาเท็กซ์   
๕. ไม้บรรทัด, ดินสอ, ยางลบ
๖. สติ๊กเกอร์ใส                     
๗. เทปสติ๊กเกอร์กากเพชร
๘. แร็กซีน               
๙. เนื้อหาที่ต้องการนำมาทำเป็นหนังสือ
 ขั้นตอนการทำ
๑.  ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการนำมาจัดทำเป็นหนังสือ
๒.  ออกแบบรูปแบบของข้อความ รวมทั้งตัวการ์ตูนต่างๆ ที่จะนำมาตกแต่งและปริ้นท์ใส่กระดาษการ์ดสีต่างๆ พร้อมตัดตกแต่งให้สวยงามตามต้องการโดย และออกแบบพร้อมกรีดกระดาษโปสเตอร์ไว้เพื่อทำเป็นขาตั้งของป็อปอัพ
๓.  ตัดฟิวเจอร์บอร์ด ขนาดกว้าง และยาว ตามต้องการ
๔.  นำกระดาษโปสเตอร์ มาติดทับลงบนฟิวเจอร์บอร์ดให้เท่ากับขนาดฟิวเจอร์บอร์ดที่ตัดเอาไว้  โดยนำมาติดให้เป็นเล่มเหมือนหนังสือให้เป็นรูปตัว V จากนั้นลองพับกระดาษแข็งนั้นลงเหมือนกับการเปิดหน้าหนังสือ
และตกแต่งด้วยข้อความ  การ์ตูนต่างๆ
 ที่เตรียมไว้  เคลือบด้วยสติ๊กเกอร์ใส (กันเปื้อนและสวยงาม)
๕.  เมื่อตกแต่งเรียบร้อยแล้ว ด้านหน้าให้ติดชื่อหนังสือ และตกแต่งขอบของกระดาษให้เรียบร้อยสวยงามด้วยเทปกาวสติ๊กเกอร์กากเพชรรอบๆ ขอบกระดาษให้สวยงาม จากนั้นจึงนำไปทดลองประกอบการเรียนการสอน
ประโยชน์ที่ได้รับหนังสือสามมิติ  
๑.  นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ เพิ่มมากขึ้นและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับรายวิชาอื่นทั้ง ๘ กลุ่มสาระได้อย่างเหมาะสม
๒.  เป็นสื่อนวัตกรรมที่พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก คล่องแคล่ว สามารถนำไปทบทวนหรือใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนและสร้างความเพลิดเพลินให้กับนักเรียนในช่วงที่มีเวลาว่าง
๔.  เป็นหนังสือที่ให้ทั้งความสนุกสนานและสอดแทรกความรู้ควบคู่กันไปเพื่อให้นักเรียนได้มีสิ่งเร้าดึงดูดใจในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้



 

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

คณะครูแกนนำ ครูผู้สอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย - บูรณาการ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานที่เป็นเลิศเพื่อเป็นการขยายผล ต่อยอดให้ครูระดับกลางและระดับต้น ระหว่างวันที่ 29-30 กันยายน 2554 ณ ศูนย์ประชุมวลัยรุกขเวช อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม